Saturday, October 21, 2006

หลงรักคนแปลกหน้่า

คืนวันศุกร์ที่ร้านประจำ เป็นร้านประจำที่ผมไปทุกๆ อาทิตย์ ความตื่นเต้นในการไปแทบไม่มีแล้ว เพราะร้านนี้ผมมากว่า ๖ ปีที่ผ่านมา พูดได้เลยว่าทุกศุกร์ ผมก็ไปมันอยู่ร้านเดียวนี่ล่ะครับ นานๆ ทีจะออกไปนอกสถานที่สักหน
เบื่อไหม...มันเลยมาแล้ว
มันกลายเป็นเพื่อน เป็นหน้่าที่ เป็นความรับผิดชอบบางอย่าง จริงๆ ร้านมันก็คงอยุ่ได้ล่ะแต่ผมรู้สึกไปเองว่า ต้องไปเจอเพื่อนที่ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ได้เจอ สาระไม่มีมากไปกว่าการรวมตัวของคนปากเสียสี่ห้าคนมาเจอกัน แล้วก็พูด การเมืองไม่ยุ่ง
ปัญหาสังคมไม่ใช่เรื่อง ข้อเขียนทางวิชาการที่อยากจะพูด ไม่มี หรือสถานะการรืทางเศรษฐกิจ ไม่อยู่ในหัว
ประเด็นอย่างเดียวที่พอมีก็คือ กัดโต๊ะหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามานั่ง กัดกันเอง ร้องเพลง คุยเรื่องโลกียะเท่าที่ผู้ชายกลุ่มหนึ่งจะคุยกันได้
ชีวิตคืนวันศุกรืของผมดูขัดแย้งกับหน้าที่การงานที่ผมทำ มันเป็นโลกอีกโลกหนึ่งเลยทีเดียว
แม้ผมจะนั่งอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า แต่นี่คือพื้นที่ของผม และเพื่อนๆ ฉะนั้นไม่แปลกอะไรหากผมจะทำตัวผิดแผกไปจากที่คนเขาคาดหวังกัน
ผมว่าถ้าฟรอยด์มานั่งในร้านนี้ ข้อสรุปใหม่ๆ กับทฤษฎีทางจิตวิทยาอาจเปลี่ยนแปลงไป
ศุกร์ที่ผ่านมา มีอะไรพิเศษมากวก่าที่ผมคิด มันน่าจะเป็นคืนวันธรรมดาๆ ที่ผ่านไปอีกศุกร์ คืนนี้เป็นคืนต่้อนรับหยุดยาว ร้านค่อนข้างเงียบ ผมนั่งอยู่ในที่คุ้นเคยของผม ไม่ได้คิดว่าจะเจออะไรพิเศษๆ ผมมาร้านเป็นคนแรก
"ทำไมมาเร็วจังวันนี้" แอนดี้เจ้าของร้านทักผม ตอนที่ผมไปถึง พร้อมๆ กับไม่ละสายตาจากขวดเบียร์ที่กำลังบรรจงเรียงเข้าตู่แช่
ผมอธิบายไปว่า วันนี้มาจากที่ทำงานข้างนอก เสร็จแล้ว ไม่รู้ไปไหน ก็เลยมาร้านเลยดีกว่า
เสียงเพลงจากลำโพงเริ่มไล่เรียงเสียงดังมาเป็นระยะๆ ผมเงยหน้าขึ้นมองไปตามเสียง เห็นหนีี(คือชื่อเขาชื่อหมีนะครับ ไม่ได้ตั้งใจจะลามก) เดินลงมาจากซุ้มดีเจ พลันสายตาก็เห็นคนหนึ่งนั่งอยู่ที่บาร์
ตั้งแต่วินาทีนั้นผมก็ละสายตาขากเขาไม่ได้ทั้งคืน
....รออ่านต่อนะครับ ตอนนี้ขี้เกียจเขียนแล้ว

Sunday, October 15, 2006

Paris, I Love You


ปารีสที่รัก
กลิ่นอากาศรอบห้างพารากอน ไม่ได้ใกล้เคียงกับหน้าร้อนของปารีส ผมเดาได้เลยไม่ต้องไปเหยียบที่นั่นก็พอรู้ วันนี้ผมเจอพี่เบ้ เพื่อนเก่ารุ่นพี่ที่เคยมาเป็นบรรณาธิการภาพ เคยทำงานด้วยกันสมัยทำงานที่สุดสัปดาห์ เลยชวนกันไปดูหนังด้วยกันซะเลย
วันนี้เป็นวันเปิดเทศกาลหนัง BKK World Film ที่พารากอน หนังดี แต่เงียบชะมัดเลย นี่ถ้าหากว่าตอนนั้นเนชั่นกับททท. ยังไม่มีปัญหากัน เราคงได้เห็นเทศกาลหนังที่เป็นเทศกาลหนังจริงๆ กว่านี้ คิดไปคิดมาก็คล้ายๆ กับที่เราจัด BKK fashion week เหมือนกัน คือมีแต่ให้ดู แต่เรื่องอย่าคิดเรื่องขาย หรือว่าการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ อันนี้น่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี ในการพัฒนาทั้งบุคลากรและความคิดของคน
ว่ากันเรื่องหนังดีกว่า วันนี้ผมไปดูหนังเรื่อง Pairs, I love you ถ้าคุณจะหาชื่อในนี้ในเว็บไซท์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไหน แนะนำให้ลองใช้คำว่า paris je t’aime จะหาง่ายกว่า หนังยาว ที่ประกอบด้วยหนังสั้น 20 เรื่อง จากผู้กำกับ 20 คน ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา หนังแต่ละเรื่องจะสะท้อนชีวิตที่เกิดขึ้นในปารีส เป็นไอเดียที่น่ารักดี แต่ไม่ใหม่มาก คนไทยก็เคยทำหนังแบบนี้เหมือนกัน
ผมชอบหนังสั้นอยู่สองสามเรื่องที่อยู่ในนั้น เรื่องที่ประทับใจมากเป็นหนังที่กำกับโดย กัส แวน เซน เรื่องของเกย์ที่ต้องเป็นล่ามให้กับคนอเมริกัน ระหว่างทำงานก็ดันไปเจอคนที่เขาตกหลุมรัก ก็พยายามบอก จีบ หว่านล้อม และอื่นๆ จนกระทั่งตอนหลังหนังมาเฉลยว่า ไอ้คนที่เขาชอบก็เป็นคนอเมริกันเหมือนกัน เลยฟังฝรั่งเศสที่ไอ้ล่ามนั่นพูดไม่รู้เรื่อง หนังมีแค่นี้แต่ประทับใจดี อีกเรื่องไม่เชิงประทับใจ แต่ประหลาดใจมากกว่า เป็นหนังของเวส คราเวน ผมมักคุ้นกับหนังโหดๆ ของเขามากกว่า อย่าง Scream หรืออย่าง Red Eye มากกว่าเลยรู้สึกประหลาดใจที่เขาทำหนังสั้นเรื่องรักใคร่ของคู่ฮันนีมูน ที่ไปเยี่ยมหลุมศพของ ออสการ์ ไวลด์ แล้วเกิดทะเลาะกัน จนกระทั่งตอนจบผีไวลด์ นั่นแลมาช่วยไกล่เกลี่ย
หลายเรื่องเป็นมุขของคนฝรั่งเศสที่ไม่ทำไว้เผื่อลิงเหลืองอย่างผม ก็เลยไม่ค่อยเข้าใจ ส่วนหนังบางเรื่องอย่าง ของคริสโตเฟอร์ ดอยล์ ก็แอ๊บเซิร์ด เสียจนไม่เข้าใจเลย ดูสับสนวุ่นวาย ไม่รู้ว่าตอนแกกำกับนี่ แกซดไฮเนเก้นไปกี่มากน้อยกระป๋อง
เวลาดูหนังที่ห่างจากวัฒนธรรมของเรามากๆ มันมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือตัวของหนังเอง ที่เปิดโลกให้เราได้รู้เรื่องราวของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง มันไม่จำเป็นต้องเป็นหนังลึกล้ำอะไรหรอกครับ อย่างหนังอินเดียที่วิ่งข้ามเขาไปมา ร้องเพลงลั่นล้า ระบำกันสนุกสนาน นี่ก็ถือเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาในหนังว่า หนังต้องทำอย่างนี้เพราะอะไร มันทำให้เราอยากรู้ต่อว่า ทำไมหนังถึงออกมาเป็นอย่างนั้น
อีกอย่างก็คือเสียงหัวเราะของคนในโรง เวลาที่ผมได้ยินเสียงหัวเราะในฉากที่ผมไม่เข้าใจ ผมมักนึกย้อนไปถึงฉากในหนังอย่างเรื่องเพื่อนสนิท ที่พระเอกของเราพยายามร้องเพลงของทูนทองใจ แต่ร้องผิดออกเป็นคำผวน
ฉากแบบนี้ไม่สากลครับ ฝรั่งดูก็คงงงว่า เราหัวเราะอะไร
แบบเดียวกัน เวลาดูหนังพวกนี้ เห็นหัวเราะในฉากที่เรานั่งบื้อ มันดูแปลกแยกดี
ไม่รู้ว่า เทศกาลหนังคราวนี้ จะมีโอกาสได้ไปดูกี่เรื่อง
ตั้งแต่ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ การได้อยู่บ้านนานๆ เป็นลาภอันประเสิร์ฐ ที่จะหาไม่ได้ง่ายๆ จริงๆ สำหรับผม
อ้อ รูปที่เอามาให้ดูคือรูปในหนังสั้นของเวส คราเวน ผมจำชื่อนักแสดงไม่ได้ล่ะ ใครรู้บอกหน่อยก็ดีครับ (ริชาร์ด ไดรฟัส กับเอมีลี่ อะไรสักอย่าง)

Monday, October 09, 2006

i will start


ผมตั้งใจไว้นานแล้วว่า จะเริ่มเขียน "นิยายรักเรื่องสั้นระหว่างการเอดินทาง" จริงๆ วางโครงเริ่มไว้นานมากและคิดว่าอยากจะทำออกมาให้สำเร็จภายในครึ่งปีหน้า วินัยน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะต้องทำและเขียนให้ได้ทุกๆ วัน วันละนิดวันละหน่อยก็ยังดี ไม่อย่างนั้นไม่เสร็จแน่ๆ ตอนนี้มีพล็อตของโตเกียว ฮ่องกง ต้ายั่น ลอนดอน อย่ในหัวแล้ว เหลือแต่จับมันออกมาเขียนมาเกล่าให้เข้าท่ากว่านี้อีกหน่อย มีน้องๆ ที่อยากทำนิตยสารมักถามผมว่า เมื่ออยากเริ่มเขียนหนังสือนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อจะให้ตัวเองประสบความสำเร็จ ผมว่าเป็นคำถามที่ตอบไม่ยากและไม่ง่ายนัก ก่อนอื่นหากเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบค้นคว้าเป็นทุนเดิม เรื่องพวกนี้ก็ไม่ยากที่จะทำให้มันเป็นจริง แรงบันดาลใจจะมาจากแรงขับในตัวเองที่ต้องการจะแบ่งปันประสบการรืกับคนอื่นอย่างอัตโนมัติ ท่ามหม่อนคึกทธิ์ก็คอยไว้อย่างนั้น คนเราเมื่ออ่านมาก ก็เริ่มอยากจะเขียน ฉะนั้นเรื่องที่จะเขียน คงจะต้องมาจากความอยากอ่านก่อนเป็นสำคัญ ผมเคยเจอเด็กถามว่า ถ้าไม่อ่านล่ะจะเขียนได้ไหม .........คำถามนี้ ไม่รู้จะตอบยังไงเลย ก็อึ้งไปเหมือนกัน ตอนนี้กำลังอ่านหนังสือของเบ็ตตี้ เรย์โนลด์ส ชื่อแปลโดย ม.ย.ร.มะลิ ชื่อว่า ตะลุยไปกับกองทัพซุชิ เขาวาดภาพประกอบน่ารักๆ และแนะนำเสน่ห์ของอาหารญี่ปุ่น ที่มากด้วยเครื่องปรุงและดูจะหมกมุ่นกับ"ความสด" เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามแต่ผมก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นอยู่ดี โดยเฉพาะข้าวปั้นกับคร็อกเก้สไตล์ญี่ปุ่น(แต่ต้องจิ้มกับน้ำจิ้มแบบไทยๆ นะถึงจะอร่อยถูกปาก)โอยยยยยย .....พุดแล้วท้องก็ร้องขึ้นมาทันใด หิวแล้วสิ ไปหาอะไรกินกันดีกว่าครับ

Wednesday, October 04, 2006

ชีวิตคุณขาดอะไร


ชีวิตผมขาดอะไร...
เป็นคำถามที่ผมมักคั้งไว้ถามกับตัวเองบ่อยๆ
ไอ้อาการ “ขาด” ของผมไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงวัตถุหรือสิ่งที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว ผมหมายรวมไปถึงความรู้สึก จิตวิญญาณ ความรู้และความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองและสิ่งรอบข้างที่เราได้รับรู้ แล้วเกิดคำถามที่ว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไป
ผมไม่ได้เป็นคนโหยหาความสมบูรณ์แบบ ตรงกันข้ามผมว่าผมเป็นคนยืดหยุ่นพอสมควรและเข้าใจธรรมชาติว่ามันไม่เคยมีอะไรที่จัดได้ลงล็อคแบบโฟลเดอร์บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ชีวิตเราเองก็ไม่ได้แข็งกระด้างขนาดที่ใครจะมากะเกณฑ์กับเราได้เสียทุกอย่าง
การถามหาสิ่งที่ขาดของผมจึงไม่ใช่เรื่องการถามหาความสมบูรณ์แบบแต่เป็นการถามหาแรงบันดาลใจมากกว่า
จริงๆ แรงบันดาลใจนั้นหาไม่ยากเลย มีอยู่ทั่วไป หนังสือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการหาแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง การเดินทางเจอะเจอคนแปลกหน้าก็เป็นอีกสิ่งที่หนึ่งที่วิเศษไม่แพ้กัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันอย่างง่ายๆ แค่เปลี่ยนเส้นทางไปทำงานตอนเช้า แค่นี้ก็ทำให้เราได้อะไรต่อมิอะไรหลายอย่างหลับมา การสร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้เกิดจากการสั่งสมความช่างสังเกตอยากรู้อยากเห็นและความน่าเบื่อของตนเอง จึงต้องพยายามทำอะไรที่แปลกแตกต่างออกไปเพื่อให้ชีวิตมีอะไรใหม่ๆ เสมอและวัยเด็กนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความคิดของการเป็นนักสำรวจ ความอยากรู้อยากเห็นในวัยเด็กของผม เป็นแรงผลักอย่างแรงที่ทำให้ยังคงความอยากรู้อยากเห็นคนถึงทุกวันนี้
หลายคนกลายเป็นฮีโร่ของผม อาเธอร์ ซี คล้าก วานิช จรุงกิจอนันท์ อาจารย์ตอนมหาวิทยาลัย คุณพ่อ คนขายก๋วยเตี๋ยวน้ำใส อาดาจิ มิสุรุ เจมส์ ลาสเดน มิลาน คุนเดอรา ยาขอบ วัฒน์ วรรยางค์กูล คาลอส โจบิม พี่โหน่ง คุณยาย โนเกียและอื่นๆ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเครื่องมือหนึ่งของการเติมส่วนที่ขาดของผม แต่ปัญหาที่ผมรู้สึกว่าตอนนี้ผมกำลังรู้สึกก็คือประเทศไทยของเรากำลังขาดแคลนแรงบันดาลใจ
ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยเราไม่มีคนเก่งหรือว่าไม่มีความสามารถแต่ผมกลับคิดว่า ประเทสไทยมี่ใครที่จะลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการส่งเสริมการหาแรงบันดาลใจเหล่านี้อย่างจริงจังและจริงใจ
แรงบันดาลใจอย่างเดียวที่คนค่อนประเทศหวังอยู่ก็คือทำอนย่างไรให้รวย รวย รวย ละรวยยิ่งขึ้นไปอีก และความรวยนั้นก็ต้องเป็นความรวยแบบ short cut เป็นความรวยแบบจะเอามาง่ายๆ และเร็วๆ เป็นความรวยแบบไม่ต้องมีความดีเจือปนมากก็ได้ ขอให้มีเงินและค่าของความถูกต้องจะตามมาเอง หวยขายดี คนรวยกลายเป็นคนดี คนดีกลายเป็นของเก่า คนเก่งที่มีแค่กระหยิบมือจึงดูเหมือนเป็นยาก ทำยากและไม่น่าทำ เพราะการเป็นคนดีและคนเก่ง ไม่ได้การันดีว่าคุณจะรวยตามความคิดของไทยนิยมยุคใหม่
นอกเหนือจากคนเก่งและดี(และส่วนมากไม่ได้รวย)ที่มีอยู่น้อยนิด รัฐและหน่วยงานต่างๆ ทั้งเอกชนด้วย ก็ไม่ค่อยผลักดันให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับใครได้สักเท่าไหร่
อาการ “ขาด” คนเก่งๆ ในบ้านเราทำให้เด็กบางส่วนเรียนรู้ที่จะเป็นดารา นักร้องเป็นอย่างลุง “ทักษิณ” ซึ่งไม่ได้เชิดชูความเก่ง แต่เชิดชูความรวยเป็นหลัก
ความรวยไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจครับ หากแต่จะดีมากถ้าสังคมได้อธิบายถึงที่มา ความพยายามอุตสาหะความภาคภูมิใจและความดีที่ควรจะมาควบคู่กันด้วย
หากแรงบันดาลใจคือฮีโร่ ฮีโร่ของประเทศไทยกำลังมีปัญหา
เพราะฮีโร่ของเรามีแต่ชุดสวยๆ ใส่ แต่ระวังนะครับฮีโร่ทั้งหลาย ระวังอย่าให้ชุดขาดขึ้นมา
เพราะคุณอาจไม่ได้น่าพิสมัยเหมือนจอห์น เวย์นก็เป็นได้

ซื้อซีดีกันอยู่หรือเปล่า

ผมเคยอ่านเจอบทความของมาร์ติน มาร์ไจล่าแฟชั่นดีไซเนอร์ ที่ให้สัมภาษณ์ความคิดเห็นไว้ในนิตยสาร One นิตยสารเกี่ยวกับการออกแบบและดีไซน์เมื่อสองสามปีก่อนเกี่ยวกับกระแสแนวความคิดแบบ deconstruction ที่ดีไซเนอร์หลายคนพยายามใช้เป็นแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างงานด้วยการเอาของเก่ามา”ยำใหม่”
มาไจล่าอดีตเคยเป็นดีไซเนอร์ประจำห้องเสื้อของแอร์เมสบอกว่าเขาคิดไว้อยู่แล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้เพราะ “หลังยุคเจ็ดศูนย์ โลกของแฟชั่นก็ไม่ได้มีอะไรใหม่แล้ว” ซึ่งหมายถึงว่าแฟชั่นหรือสิ่งของต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในยุคปัจจุบันล้วนแล้วแต่หยิบยืมเอาของเก่ามาทำใหม่กันทั้งนั้น เป็นวัฒนธรรมที่มีชื่อเล่นเก๋ไก๋ว่าวัฒนธรรมตัดปะ (Cut&Mix culture)
ผมทึกทักเอาเองว่ามาไจล่าเองคงกระอักกระอ่วนอยู่ไม่น้อยกับการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตแบบนี้เหมือนกัน ทั้งๆ ที่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังหาทางออกไม่ได้
กระบวนการทุนนิยมและการผลิตที่เน้นผลิตคราวละมากๆ (mass production) ที่ต้องอาศัยระบบแบบสายพานการผลิต ได้ทำลายจินตนาการและความสามารถในการผลิตของมนุษยชาติไปทีละเล็กละน้อยเพราะวิธีผลิตแบบนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราคิดต่าง ถึงจะคิดต่างก็มีที่ทางน้อยมากในการโผล่ขึ้นมาหายใจ เพราะการคิดต่างบางครั้งก็หมายถึงการอยู่“นอกระบบ” ซึ่งก็มีคนเห็นว่าแบบนี้ไม่ค่อยดี เดียวรวนกันหมด
วงการเพลงก็เหมือนกับวงการแฟชั่นหรือวงการอื่นๆ คือไม่มีอะไรใหม่หลังยุคทศวรรษ 70 เป็นต้นมา ทุกวันนี้เพลงป๊อบยังคงใช้วิธีเล่าเรื่องแบบเดิมๆ เพลงที่ฮิตมีไหม ก็มีครับแต่มันก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์เหมือนอย่างแต่ก่อนอีกแล้ว สำหรับผมถึงเพลงดังแต่ไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพลงนั้นก็ถือเป็นแค่สินค้าอุปโภค บริโภคหาใช่ศิลปะ และอย่ามาใช้คำว่าศิลปินกับคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าโน้ตเขบ็ดเลย นักร้องเงเมืองนอกขี้หมูขี้หมาก็แต่งเพลงเองได้ครับ บ้านเรานี่สิแปลกบอกว่าเป็นศิลปินแต่ทำอะไรไม่เก่งสักอย่างเอาแต่หล่อ สวยอย่างเดียว ฉะนั้นจะเรียกตัวเองว่าศิลปิน ผมว่าน่าจะคิดอีกนิด
วงการเพลงจึงไม่มีอะไรใหม่ด้วยประการฉะนี้ ไม่มีสงครามไม่มีอุดมการณ์ ครอบครัว ปากท้องและชีวิตในระบบ(ที่ว่ากันว่าจะทำให้คุณปลอดภัยนั้น)สำคัญกว่า เหมือนอย่างที่นิค ฮอร์นบี้นักเขียนชาวอังกฤษเคยบอกว่าเลยคนเราอายุเลย 30 ก็เลิกซื้อซีดีฟังกันแล้ว
ดูๆ ไปทุกวงการเจอทางตันกันหมด ความคิดแบบทุนฯ บีบให้เราทำอะไรเหมือนๆ กัน เจอปัญหาเหมือนกันทั้งโลก บีบให้เราต้องทำอะไรตามระบบ ความหลากหลาย ความประนีต จินตนาการลดลง เดี๋ยวนี่จะหาวงที่มีแนวประสานเฉียบแบบบีจี ไม่มีแล้ว จะหาวงที่มีเนื้อร้องฉลาดคมคายแบบเพลงของคุณเรวัตร พุฒทินันท์ หรือเฉลียงก็ไม่เห็นมี หรือวงที่ฝีมือเล่นสดสุดยอดอย่าง Tower of power หรือ Earth Wind and fire ก็น้อยเต็มที คนหมกมุ่นกับสิ่งที่ทำน้อยลง สมาธิสั้นขึ้นและขี้กลัว การฟังเพลงสมัยนี้ก็เลยเหมือนกัน คือฟังน้อยลง ฟังเฉพาะท่อนฮุก(เอาไปทำริงโทน) และไม่กล้าฟังไม่เหมือนคนอื่น เดี๋ยวจะโดนว่าล้าสมัย
สถานีวิทยุเองก็เปลี่ยนไป นักจัดรายการแบบสมัยก่อนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ยุคสมัยอย่างคุณหมึก วิโรจน์ ควันธรรมหรืออย่างป้าแจ๋วก็ไม่มีแล้ว ดีเจไม่เคยรู้เรื่องเพลงเพราะเปิดเพลงตามโจทย์วนไปวนมา เปิดเพลงแปลกๆ ก็ไม่ได้เพราะเปิดซี้ซั้วอาจโดนฟ้อง เพราะค่ายเพลงเก็บเงินค่าเปิดเพลงอันนี้ก็เป็นเรื่องของระบบอีก
ผมมานั่งนึกว่าสองสามปีมานี้ผมซื้อซีดีน้อยลงมากทั้งๆ ที่สมัยก่อนซื้อเกือบทุกอาทิตย์ จริงๆ มันเป็นเรื่องน่าเศร้านะครับเมื่อรู้ว่าอนาคตเราจะหาเพลงดีๆ ฟังได้น้อยลง แถมวิทยุก็ไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจเหมือนเก่า
ทางออกคงต้องอยู่ที่พวกเราช่วยกันดื้อเสียบ้าง ก็น่าจะดีเหมือนกัน
ปล. คุณมีซีดีแผ่นโปรดไหม
ของผมนี่ที่ชอบมากๆๆๆๆๆๆ ก็คือซีดีแสดงสด ของ Earth Wind and Fire นั่นเป็นวีดีที่ทำให้ผมฟังทีไรก็ขนลุกแล้วลูกอีก เพราะทั้งอังการ มาสเตอร์ได้ดีมาก แล้วเสียงร้องก็ไม่ตก คิวเพลงสุดยอด เป็นหนึ่งในอัลยบั้มที่ผมมักนึกถึงเสมอๆ เวลาที่ใครถามว่า อัลบั้มโปรดของผมคืออัลบั้มอะไร คุณๆ ล่ะ มีไหม?

ปากว่าตาขยิบ

จริงๆ ก็ผ่านวันแม่มาครึ่งเดือนแล้ว แต่ปักษ์นี้ ผมอยากเราเรื่องแม่ของผมให้ฟังสักหน่อย
แม่ผมเป็นครู สอนอยู่โรงเรียนเล็กๆ แถวบ้าน ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 50 คน
ตามประสาครูบ้านนอกที่ครูคนเดียว(จำ)ต้องทำหลายๆ อย่างเป็น แม่ผมเป็นครูประจำชั้นป.6 แต่บางทีก็ต้องไปสอนภาษาอังกฤษ ป.4 เป็นครูพละศึกษา(ทั้งๆ ที่เล่นอะไรไม่เป็นเลย) ครูสอนเกษตร รวมถึงเป็นหัวหน้าหมู่เนตรนารีเวลาที่นักเรียนไปเข้าค่าย
ไม่ใช่แค่แม่ผมเท่านั้น ชีวิตของครูบ้านนอกหลายๆ คนก็เป็นแบบนี้ ทำงานเพื่อเด็กๆ เพื่อชุมชน ผมเชื่อว่าครูในโรงเรียนชนบททำมากกว่าการสอนหนังสือ เพราะชาวบ้านล้วนฝากอนาคตและความหวังไว้กับการศึกษาของลูกๆ ที่ครูเหล่านี้เป็นผู้อบรม
สมัยก่อนที่ผมยังอยู่บ้านเดียวกับแม่(ตอนนี้ผมเป้นคนกรุงไปเสียแล้ว) แม่มักมีเรื่องเล่าในรั้วโรงเรียนมาแชร์ให้ฟังในมื้อเย็นเสมอๆ ดีบ้าง แย่บ้างว่ากันไปแต่สิ่งที่แม่มักบ่นเสมอๆ คืออยากเห็นเด็กๆ มีโอกาสมากกว่านี้ อยากให้รัฐบาลลงทุนกับการศึกษาของชาติอย่างจริงจังเหมือนๆ กับที่ทำกับสนามบิน
ไม่นานมานี้มีเรื่องหนึ่งที่แม่บอกกับพวกเราว่าเป็น “เรื่องชวนหัวที่ยิ้มไม่ออก”
แม่เล่าให้ผมฟังว้า เดี๋ยวนี้เด็กป.1 มีแบบเรียนเศรษฐศาสตร์ให้เรียนด้วย ชื่อแบบเรียนว่า “เศรษฐศาสตร์ในครัวเรือน” เพื่อให้เด็กๆ รู้จักดารอดออมและการทำบัญชีง่ายๆ จึงแยกออกมาเป็นแบบเรียน ซึ่งนักเรียนจำเป็นต้องซื้อเพื่อประกอบการเรียน
ผมไม่เข้าใจเจตนาว่า เศรษฐศาสตร์ในครัวเรือนของนักเรียนป.1 นั้นจะมีอะไรมากมายถึงต้องทำออกมาเป็นแบบเรียนหนึ่งเล่ม ทั้งๆ ที่แท้จริงมันก็คือการบวกลบธรรมดาที่มีอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์ ที่สำคัญคือการใช้คำว่าเศรษฐศาสตร์กับเด็กป.1 มีเจตนาอย่างไร หรือเข้าใจว่าเป็นคำเชิญชวนที่ดูเข้าท่า
เดี๋ยวนี้เด็กป.1 มีหนังสือแบบเรียนกันเยอะมาก หนังสือเรียนคณิตศาสตร์ในหนึ่งปีมีทั้งหมด 7 เล่ม ภาษาไทยและวิชาอื่นๆ มีหนังสือเรียนสำหรับหนึ่งปีไม่ต่ำกว่า 5 เล่ม
เบื้องหลังความคิดของผู้กำหนดทิศทางการศึกษาของไทยนั้น มีอะไรซ่อนเร้นมากกว่าทำเพื่อเด็กหรือไม่ หรือเป็นการจัดหาช่องทางเพื่อสร้างผลประโยชน์เพื่อคนบางกลุ่มหรือเปล่า เพราะหากจะหาประโยชน์กันจริงๆ แล้ว การพิมพ์หนังสือที่บังคับให้ทุกคนต้องใช้นั้น สร้างกำรี่กำไรได้งามทีเดียว
พิมพ์ออกมาหลายๆ เล่ม ขายได้หลายๆ หน กำไรหลายต่อ
แม่เคยบอกผมว่า เคยได้ยินนักวิชาการที่เป็นคนออกตำราให้กับนักเรียนว่าซอยเป็นเล่มๆ เล็กๆ อย่างนี้ล่ะดี “ขายได้หลายหน ทำเงินได้หลายที”
ในขณะที่เรากำลังบอกว่าอยากเพิ่มปีการศึกษาของเด็กไทยให้มากขึ้น แต่ดูเหมือนมีน้อยคนนักที่จะถามหาประสิทธิภาพของระบบการศึกษาของประเทศไทยว่าดีหรือไม่ ผ่านมา 20 กว่าปีในชีวิตครูของแม่ ผ่านยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษามาหลายรัฐบาล แม่บอกว่ามันดูจะแย่ลงไปเสียทุกอย่าง ครูน้อยลงทั้งคุณภาพและปริมาณ หลักสูตรไม่ได้พัฒนามากขึ้น งานวิจัยทำผลงาน ก็กลายเป็นการทำที่ไม่ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง ที่สำคัญครูเก่าๆ โรงเรียนเล็กๆ หลายครั้งก็ถูกละเลยหลงลืม
ผมไม่ได้โกรธแค้นกับการทำงานของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะผมควรจะให้อภัยและเข้าใจให้ได้ว่ามีเรื่องอื่นๆ ในประเทศนี้อาจสำคัญกว่าการศึกษาของคนในชาติ(เช่นว่า สนามบินใหญ่ที่สุดในโลก ดึงคนมาเที่ยวเมืองไทย กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นหรือตัวเลขการส่งออก) หรือนี่อาจเป็นนโยบายหาเสียงที่ไม่สามารถเห็นผลในรัฐบาลเดียว ผมเข้าใจครับและสัญญาว่าจะพยายามทำใจให้ได้ในที่สุด
เพราะเห็นคนใหญ่คนโตมีการศึกษาเขาทำกันอย่างนี้ ปากก็พูดไป ตาก็ขยิบไป เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ และเยาวชนในสังคม

coup de tat

หลังคืนวันที่ 19 กันยายนหลักหมุดใหม่ที่ปักลงในประวัติศาสตร์ชาติไทยคราวนี้ดูกะทันหันเพราะไม่มีใครคิดว่า มันจะเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังจะเปิดสนามบินที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการบิน
ผมก็ไม่คิด เมื่อคืนเพิ่งไปเยี่ยมเพื่อนที่เพิ่งผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ยังแอบดีใจที่เพื่อนผมกำลังใจดีเยี่ยม ยิ้มแย้ม ไอ้เราก็พลอยอุ่นใจว่า เออชีวิตเพื่อนเราก็คงดีขึ้นเรื่อยๆ ตามสนามบิน(ฮา) ที่ไหนได้ พอวิทยุเริ่มเปิดเพลงปลุกใจ(น่าจะไม่เคยแต่งเพิ่มเพราะน่าจะใช้มาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. และคิดว่าไม่เคยแต่งเพิ่ม) เหมือนกันหมดทุกสถานี พร้อม SMS จากบรรดาเพื่อนๆ ให้รีบกลับบ้าน เพราะกำลังจะมีการปฏิวัติ! ความเร็วไม่เกิน 90 ก็ขยับขึ้นไปเป็น 120 เพราะอยากกลับไปดูทีวีที่บ้านว่า เหตุการณ์ไปถึงไหน กลับบ้านเปิดดู CNN ก็เห็นรูปรถถังจอดบนถนน ทหารสะพายปืนเดินเพ่นพ่านตามถนน
ชาวบ้านควักมือถือมาถ่ายรูปด้วยความยิ้มแยม กับทหารและรถถัง....ย้ำ ชาวบ้านถ่ายรูปด้วยความยิ้มแย้ม
ผมอดหัวเราะและแลปกใจไม่ได้กับภาพที่เห็น เป็นภาพการปฏิวัติที่ดูเหมือนงานวันเด็กแห่งชาติ คิดไปเองว่านี่คงเป็นประเทศเดียวในโลกกระมังครับที่นอกจากไม่มีการเสียเลือดเนื้อแล้ว การปฏิวัติก็ยังดูเหมือนเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองมากกว่า จนอดแปลกใจตามมาไม่ได้ว่า เอหรือว่านี่จะเหมือนตอนคาร์บอมบ์ ที่เพิ่งผ่านมาหยกๆ ความไม่แน่ใจทำให้ผมรู้สึกแปลกๆ กับภาพที่เห็นคนเอามือถือมาถ่ายรูปกับรถถัง
ความจริงกำลังถูกท้าทาย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการโกหกคำโตของใครบางคน จนแม้กระทั่งบางครั้งการแสดงตัวของความจริงก็ไม้เพียงพอจะยืนยันได้ว่านี่คือความจริง (จริงๆ นะ ไม่ได้โม้)
เราพูดโกหกกันจนเคยปาก เรามีข้อแก้ตัวจนเคยชิน จนสิ่งเหล่านั้นแปลเปลี่ยนไปเป็นความจริงที่เราเชื่อไปแล้วหรือเปล่า
การปฏิวัติครั้งนี้ทุกคน หวังว่าจะได้เห็นแสงสว่างอยู่ข้างหน้า แต่ผมก็กลัวเหลือเกินว่า หากทุกคนยังชินอยู่กับการหาคำแก้ตัวและการโกหกคำโตแบบที่ฮิตเบอร์เคยพูดไว้
ความจริงจัง ความจริงใจและความจริง จริงๆ ก็คงเหลืออยู่น้อยจนน่าใจหาย