Sunday, October 15, 2006

Paris, I Love You


ปารีสที่รัก
กลิ่นอากาศรอบห้างพารากอน ไม่ได้ใกล้เคียงกับหน้าร้อนของปารีส ผมเดาได้เลยไม่ต้องไปเหยียบที่นั่นก็พอรู้ วันนี้ผมเจอพี่เบ้ เพื่อนเก่ารุ่นพี่ที่เคยมาเป็นบรรณาธิการภาพ เคยทำงานด้วยกันสมัยทำงานที่สุดสัปดาห์ เลยชวนกันไปดูหนังด้วยกันซะเลย
วันนี้เป็นวันเปิดเทศกาลหนัง BKK World Film ที่พารากอน หนังดี แต่เงียบชะมัดเลย นี่ถ้าหากว่าตอนนั้นเนชั่นกับททท. ยังไม่มีปัญหากัน เราคงได้เห็นเทศกาลหนังที่เป็นเทศกาลหนังจริงๆ กว่านี้ คิดไปคิดมาก็คล้ายๆ กับที่เราจัด BKK fashion week เหมือนกัน คือมีแต่ให้ดู แต่เรื่องอย่าคิดเรื่องขาย หรือว่าการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ อันนี้น่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี ในการพัฒนาทั้งบุคลากรและความคิดของคน
ว่ากันเรื่องหนังดีกว่า วันนี้ผมไปดูหนังเรื่อง Pairs, I love you ถ้าคุณจะหาชื่อในนี้ในเว็บไซท์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไหน แนะนำให้ลองใช้คำว่า paris je t’aime จะหาง่ายกว่า หนังยาว ที่ประกอบด้วยหนังสั้น 20 เรื่อง จากผู้กำกับ 20 คน ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา หนังแต่ละเรื่องจะสะท้อนชีวิตที่เกิดขึ้นในปารีส เป็นไอเดียที่น่ารักดี แต่ไม่ใหม่มาก คนไทยก็เคยทำหนังแบบนี้เหมือนกัน
ผมชอบหนังสั้นอยู่สองสามเรื่องที่อยู่ในนั้น เรื่องที่ประทับใจมากเป็นหนังที่กำกับโดย กัส แวน เซน เรื่องของเกย์ที่ต้องเป็นล่ามให้กับคนอเมริกัน ระหว่างทำงานก็ดันไปเจอคนที่เขาตกหลุมรัก ก็พยายามบอก จีบ หว่านล้อม และอื่นๆ จนกระทั่งตอนหลังหนังมาเฉลยว่า ไอ้คนที่เขาชอบก็เป็นคนอเมริกันเหมือนกัน เลยฟังฝรั่งเศสที่ไอ้ล่ามนั่นพูดไม่รู้เรื่อง หนังมีแค่นี้แต่ประทับใจดี อีกเรื่องไม่เชิงประทับใจ แต่ประหลาดใจมากกว่า เป็นหนังของเวส คราเวน ผมมักคุ้นกับหนังโหดๆ ของเขามากกว่า อย่าง Scream หรืออย่าง Red Eye มากกว่าเลยรู้สึกประหลาดใจที่เขาทำหนังสั้นเรื่องรักใคร่ของคู่ฮันนีมูน ที่ไปเยี่ยมหลุมศพของ ออสการ์ ไวลด์ แล้วเกิดทะเลาะกัน จนกระทั่งตอนจบผีไวลด์ นั่นแลมาช่วยไกล่เกลี่ย
หลายเรื่องเป็นมุขของคนฝรั่งเศสที่ไม่ทำไว้เผื่อลิงเหลืองอย่างผม ก็เลยไม่ค่อยเข้าใจ ส่วนหนังบางเรื่องอย่าง ของคริสโตเฟอร์ ดอยล์ ก็แอ๊บเซิร์ด เสียจนไม่เข้าใจเลย ดูสับสนวุ่นวาย ไม่รู้ว่าตอนแกกำกับนี่ แกซดไฮเนเก้นไปกี่มากน้อยกระป๋อง
เวลาดูหนังที่ห่างจากวัฒนธรรมของเรามากๆ มันมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือตัวของหนังเอง ที่เปิดโลกให้เราได้รู้เรื่องราวของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง มันไม่จำเป็นต้องเป็นหนังลึกล้ำอะไรหรอกครับ อย่างหนังอินเดียที่วิ่งข้ามเขาไปมา ร้องเพลงลั่นล้า ระบำกันสนุกสนาน นี่ก็ถือเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาในหนังว่า หนังต้องทำอย่างนี้เพราะอะไร มันทำให้เราอยากรู้ต่อว่า ทำไมหนังถึงออกมาเป็นอย่างนั้น
อีกอย่างก็คือเสียงหัวเราะของคนในโรง เวลาที่ผมได้ยินเสียงหัวเราะในฉากที่ผมไม่เข้าใจ ผมมักนึกย้อนไปถึงฉากในหนังอย่างเรื่องเพื่อนสนิท ที่พระเอกของเราพยายามร้องเพลงของทูนทองใจ แต่ร้องผิดออกเป็นคำผวน
ฉากแบบนี้ไม่สากลครับ ฝรั่งดูก็คงงงว่า เราหัวเราะอะไร
แบบเดียวกัน เวลาดูหนังพวกนี้ เห็นหัวเราะในฉากที่เรานั่งบื้อ มันดูแปลกแยกดี
ไม่รู้ว่า เทศกาลหนังคราวนี้ จะมีโอกาสได้ไปดูกี่เรื่อง
ตั้งแต่ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ การได้อยู่บ้านนานๆ เป็นลาภอันประเสิร์ฐ ที่จะหาไม่ได้ง่ายๆ จริงๆ สำหรับผม
อ้อ รูปที่เอามาให้ดูคือรูปในหนังสั้นของเวส คราเวน ผมจำชื่อนักแสดงไม่ได้ล่ะ ใครรู้บอกหน่อยก็ดีครับ (ริชาร์ด ไดรฟัส กับเอมีลี่ อะไรสักอย่าง)

0 Comments:

Post a Comment

<< Home