ปากว่าตาขยิบ
จริงๆ ก็ผ่านวันแม่มาครึ่งเดือนแล้ว แต่ปักษ์นี้ ผมอยากเราเรื่องแม่ของผมให้ฟังสักหน่อย
แม่ผมเป็นครู สอนอยู่โรงเรียนเล็กๆ แถวบ้าน ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 50 คน
ตามประสาครูบ้านนอกที่ครูคนเดียว(จำ)ต้องทำหลายๆ อย่างเป็น แม่ผมเป็นครูประจำชั้นป.6 แต่บางทีก็ต้องไปสอนภาษาอังกฤษ ป.4 เป็นครูพละศึกษา(ทั้งๆ ที่เล่นอะไรไม่เป็นเลย) ครูสอนเกษตร รวมถึงเป็นหัวหน้าหมู่เนตรนารีเวลาที่นักเรียนไปเข้าค่าย
ไม่ใช่แค่แม่ผมเท่านั้น ชีวิตของครูบ้านนอกหลายๆ คนก็เป็นแบบนี้ ทำงานเพื่อเด็กๆ เพื่อชุมชน ผมเชื่อว่าครูในโรงเรียนชนบททำมากกว่าการสอนหนังสือ เพราะชาวบ้านล้วนฝากอนาคตและความหวังไว้กับการศึกษาของลูกๆ ที่ครูเหล่านี้เป็นผู้อบรม
สมัยก่อนที่ผมยังอยู่บ้านเดียวกับแม่(ตอนนี้ผมเป้นคนกรุงไปเสียแล้ว) แม่มักมีเรื่องเล่าในรั้วโรงเรียนมาแชร์ให้ฟังในมื้อเย็นเสมอๆ ดีบ้าง แย่บ้างว่ากันไปแต่สิ่งที่แม่มักบ่นเสมอๆ คืออยากเห็นเด็กๆ มีโอกาสมากกว่านี้ อยากให้รัฐบาลลงทุนกับการศึกษาของชาติอย่างจริงจังเหมือนๆ กับที่ทำกับสนามบิน
ไม่นานมานี้มีเรื่องหนึ่งที่แม่บอกกับพวกเราว่าเป็น “เรื่องชวนหัวที่ยิ้มไม่ออก”
แม่เล่าให้ผมฟังว้า เดี๋ยวนี้เด็กป.1 มีแบบเรียนเศรษฐศาสตร์ให้เรียนด้วย ชื่อแบบเรียนว่า “เศรษฐศาสตร์ในครัวเรือน” เพื่อให้เด็กๆ รู้จักดารอดออมและการทำบัญชีง่ายๆ จึงแยกออกมาเป็นแบบเรียน ซึ่งนักเรียนจำเป็นต้องซื้อเพื่อประกอบการเรียน
ผมไม่เข้าใจเจตนาว่า เศรษฐศาสตร์ในครัวเรือนของนักเรียนป.1 นั้นจะมีอะไรมากมายถึงต้องทำออกมาเป็นแบบเรียนหนึ่งเล่ม ทั้งๆ ที่แท้จริงมันก็คือการบวกลบธรรมดาที่มีอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์ ที่สำคัญคือการใช้คำว่าเศรษฐศาสตร์กับเด็กป.1 มีเจตนาอย่างไร หรือเข้าใจว่าเป็นคำเชิญชวนที่ดูเข้าท่า
เดี๋ยวนี้เด็กป.1 มีหนังสือแบบเรียนกันเยอะมาก หนังสือเรียนคณิตศาสตร์ในหนึ่งปีมีทั้งหมด 7 เล่ม ภาษาไทยและวิชาอื่นๆ มีหนังสือเรียนสำหรับหนึ่งปีไม่ต่ำกว่า 5 เล่ม
เบื้องหลังความคิดของผู้กำหนดทิศทางการศึกษาของไทยนั้น มีอะไรซ่อนเร้นมากกว่าทำเพื่อเด็กหรือไม่ หรือเป็นการจัดหาช่องทางเพื่อสร้างผลประโยชน์เพื่อคนบางกลุ่มหรือเปล่า เพราะหากจะหาประโยชน์กันจริงๆ แล้ว การพิมพ์หนังสือที่บังคับให้ทุกคนต้องใช้นั้น สร้างกำรี่กำไรได้งามทีเดียว
พิมพ์ออกมาหลายๆ เล่ม ขายได้หลายๆ หน กำไรหลายต่อ
แม่เคยบอกผมว่า เคยได้ยินนักวิชาการที่เป็นคนออกตำราให้กับนักเรียนว่าซอยเป็นเล่มๆ เล็กๆ อย่างนี้ล่ะดี “ขายได้หลายหน ทำเงินได้หลายที”
ในขณะที่เรากำลังบอกว่าอยากเพิ่มปีการศึกษาของเด็กไทยให้มากขึ้น แต่ดูเหมือนมีน้อยคนนักที่จะถามหาประสิทธิภาพของระบบการศึกษาของประเทศไทยว่าดีหรือไม่ ผ่านมา 20 กว่าปีในชีวิตครูของแม่ ผ่านยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษามาหลายรัฐบาล แม่บอกว่ามันดูจะแย่ลงไปเสียทุกอย่าง ครูน้อยลงทั้งคุณภาพและปริมาณ หลักสูตรไม่ได้พัฒนามากขึ้น งานวิจัยทำผลงาน ก็กลายเป็นการทำที่ไม่ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง ที่สำคัญครูเก่าๆ โรงเรียนเล็กๆ หลายครั้งก็ถูกละเลยหลงลืม
ผมไม่ได้โกรธแค้นกับการทำงานของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะผมควรจะให้อภัยและเข้าใจให้ได้ว่ามีเรื่องอื่นๆ ในประเทศนี้อาจสำคัญกว่าการศึกษาของคนในชาติ(เช่นว่า สนามบินใหญ่ที่สุดในโลก ดึงคนมาเที่ยวเมืองไทย กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นหรือตัวเลขการส่งออก) หรือนี่อาจเป็นนโยบายหาเสียงที่ไม่สามารถเห็นผลในรัฐบาลเดียว ผมเข้าใจครับและสัญญาว่าจะพยายามทำใจให้ได้ในที่สุด
เพราะเห็นคนใหญ่คนโตมีการศึกษาเขาทำกันอย่างนี้ ปากก็พูดไป ตาก็ขยิบไป เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ และเยาวชนในสังคม
0 Comments:
Post a Comment
<< Home